การสอนตามแนว CLT จำเป็นที่ต้องใช้สื่อที่หลากหลาย
เพราะสื่อมีความสำคัญต่อการเรียนแบบปฏิสัมพันธ์หรือการเรียนแบบร่วมมือและการฝึกใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร
สื่อที่สำคัญ 3 อย่างที่ใช้สำหรับการสอนตามแนว CLT
ได้แก่ เนื้อหา (text-based) งาน/กิจกรรม
(task-based) ของจริง(realia)
- เนื้อหา (text-based
material) ในปัจจุบันมีตำราเรียนจำนวนมากมายที่สอดคล้องกับการเรียน/สอนตามแนว
CLT ซึ่งการออกแบบตำราเรียนกิจกรรมและเนื้อหาแตกต่างจากตำราที่แต่งขึ้นมาเพื่อสอนไวยากรณ์
ยกตัวอย่าง แบบเรียน CLT จะไม่มีแบบฝึกหัด (drill)
หรือโครงสร้างประโยคส่วนมากแบบเรียนที่เน้น CLT จะประกอบไปด้วยข้อมูลในรูปต่าง ๆ เช่น
การจัดสถานการณ์ที่ให้ผู้เรียนแสดงบทบาทสมมุติหรือกิจกรรมคู่
หรืออาจกำหนดเรื่อง (theme) ที่จะเรียนแล้วมีกิจกรรมที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจเรื่องนั้น
ๆ
- งาน/กิจกรรม
(task-based material) เกมส์ต่าง ๆ บทบาทสมมุติ
การเลียนแบบ และกิจกรรมอื่น ๆ เช่น กิจกรรมการสอบถามแลกเปลี่ยนข้อมูล (gap
conversation) กิจกรรม Jigsaw ที่เน้นให้ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์ทำงานเป็นกลุ่มร่วมมือกัน
- สื่อที่เป็นของจริง
(realia) CLT เน้นการใช้สื่อที่เป็นของจริง (authentic
material) เช่น ป้ายประกาศโฆษณา หนังสือพิมพ์รูปภาพ แผนที่
เป็นต้น
แนวคิดเรื่องการการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร
การสอนภาษาต่างประเทศในระยะเวลาที่ผ่านมา
เราจะเห็นได้ว่ามีวิธีการสอนที่แตกต่างหลากหลายตามหลักแนวคิดพื้นฐาน
และวิธีการสอนภาษาที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ที่นักภาษาศาสตร์ประยุกต์คิดค้นขึ้นเพื่อใช้ในการสอน
หรือเพื่อปรับปรุงการสอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การสอนภาษาอังกฤษตามแนวทางการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เกิดขึ้นประมาณปี
ค.ศ. 1970
และได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศอังกฤษ
เนื่องจากเป็นแนวทางการสอนที่เน้นในเรื่องการสื่อสารตามสถานการณ์ในการใช้ภาษาจริงๆมากกว่าการเน้นสอนเรื่องรูปแบบหรือโครงสร้างของภาษาเพียงอย่างเดียว
Widdowson (1978) อ้างใน Larsen-Freeman (2000:121) ได้กล่าวไว้ว่าในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงโดยการนำแนวทางการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารมาใช้นั้นมีเหตุผลมาจากการที่ผู้เรียนสามารถผลิตประโยคที่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ในชั้นเรียนได้เป็นอย่างดีแต่ก็ยังไม่สามารถที่จะนำความรู้ทางตัวภาษาที่ได้เรียนนั้นไปใช้ในสถานการณ์จริงได้อย่างเหมาะสมถูกต้องตามปริบท
ที่เป็นเช่นนี้เนื่องมากจากการรู้ถึงกฎในตัวภาษาของผู้เรียนนั้นยังไม่เพียงพอแต่การใช้ภาษาในสถานการณ์จริงๆนั่นเอง
การสอนภาษาเพื่อการสื่อสารจึงมุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ทางภาษาที่มีไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
ซึ่งนอกจากที่ผู้เรียนต้องมีความรู้ในเรื่องไวยากรณ์ภาษาแล้ว
ผู้เรียนยังต้องมีความรู้ในสิ่งที่อยู่นอกเหนือตัวภาษา เช่น
สถานภาพหรือความสัมพันธ์ของคู่สนทนาในสังคม อายุ เพศ การศึกษา ความสุภาพ
ตลอดจนเจตนาทั้งทางตรงและทางอ้อมในการสื่อสาร เป็นต้น
Larsen-Freeman (2000:128-132) ได้กล่าวไว้ว่าเป้าหมายของการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารนั้นคือการทำให้ผู้เรียนสามารถสื่อสารในภาษาที่เรียนได้
โดยการจะทำเช่นนี้ได้จะต้องมีความรู้ในเรื่องของโครงสร้างทางภาษา
ความรู้ในเรื่องความหมาย และความเข้าใจในเรื่องของหน้าที่ของภาษาที่ใช้
ซึ่งผู้เรียนจะต้องเลือกรูปแบบของภาษาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่ใช้ในการสื่อสาร
ปริบททางสังคม ตลอดจนบทบาททางสังคมของผู้ร่วมสนทนาด้วย
นอกจากการสอนที่เน้นในเรื่องหน้าที่ของภาษามากกว่ารูปแบบทางภาษาแล้ว ผู้เรียนยังต้องเรียนทักษะทั้งสี่
คือพูด ฟัง อ่าน เขียน ไปพร้อมๆกันตั้งแต่เริ่มต้นอีกด้วย
โดยสิ่งที่มีความโดดเด่นในการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร
คือเนื้อหาของการเรียนการสอนจะอยู่ภายใต้กระบวนการทางการจัดกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้มีโอกาสในการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารทั้งสิ้น
โดยการที่ผู้เรียนจะสามารถสื่อสารได้นั้นต้องมีองค์ประกอบหลักๆอยู่ 3 ประการด้วยกันคือ 1) ช่วงว่างระหว่างข้อมูล (Information gap) คือความต้องการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันโดยเมื่อคู่สนทนาไม่มีข้อมูลหรือมีข้อมูลไม่พอเพียง
ทำให้ต่างฝ่ายต้องการที่จะทราบหรือให้ข้อมูลซึ่งกันและกัน 2) การเลือก (Choice) คือผู้เรียนมีโอกาสในการเลือกที่จะพูดหรือเขียน
ตลอดจนรูปแบบในการสื่อสารความหมาย 3) ข้อมูลย้อนกลับ (Feedback) คือ
ผู้เรียนมีโอกาสที่จะได้ทราบถึงผลของการสื่อสารที่ว่าประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวจากปฎิกริยาของผู้ร่วมสนทนา
นอกจากนี้แล้วการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารยังเน้นการเรียนรู้ที่เกิดจากการปฎิบัติกล่าวคือ
ผู้สอนต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ใช้ภาษาให้มากที่สุด
การให้ผู้เรียนสนทนาแลกเปลี่ยนข้อมูลกันโดยให้เลือกใช้ภาษาตามต้องการและให้ประเมินการสื่อสารด้วยตนเองเป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ใช้ภาษาในการสื่อสารจริงๆ
ส่วนเรื่องข้อผิดพลาดที่ผู้เรียนมีขณะที่มีการเรียนการสอนนั้นไม่ใช้สิ่งที่ต้องการการแก้ไขเสมอ
ทั้งนี้ข้อผิดพลาดจะถูกแก้ไขเฉพาะในส่วนที่สำคัญๆที่จะไปขัดขวางหรือสร้างความสับสนของความเข้าใจในการสื่อสารเท่านั้น
มิฉะนั้นผู้เรียนอาจเกิดความไม่มั่นใจไม่กล้าที่จะใช้ภาษาในการทำกิจกรรมต่างๆได้
Wilkins (1976) ได้เสนอแนวคิดการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารไว้ว่าเป็นการให้ความสำคัญกับการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารตั้งแต่เริ่มต้น
แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ละเลยในเรื่องความสำคัญทางไวยากรณ์และสถานการณ์ในการใช้ภาษา
การสอนภาษาตามแนวทางการสอนเพื่อการสื่อสารจะมีข้อดีกว่าแนวคิดการสอนที่เน้นไวยากรณ์คือ
มีการฝึกฝนภาษาเพื่อใช้ในการสื่อสาร
และเมื่อผู้เรียนได้มีการฝึกฝนการใช้ภาษาได้ในสถานการณ์จริงแล้ว
ยังช่วยให้เกิดแรงจูงใจแก่ผู้เรียนอีกด้วย
การสร้างความสามารถในการสื่อสาร (Communicative competence) ซึ่งเป็นเป้าหมายของการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารนี้
แบ่งได้เป็น 4 ประเภทตามแนวคิดของ Savignon (1983: 36-38) ดังต่อไปนี้
1) ความสามารถด้านกฎเกณฑ์และโครงสร้างของภาษา (Linguistic or Grammatical competence)
คือ
ความสามารถที่ผู้เรียนต้องมีเกี่ยวกับเรื่องการออกเสียง ศัพท์
โครงสร้างหรือรูปแบบของประโยคเพื่อนำไปใช้ในการสื่อสาร
2) ความสามารถด้านภาษาศาสตร์เชิงสังคม (Sociolinguistic competence) คือ ความสามารถที่ผู้เรียนต้องมีเกี่ยวกับการใช้ภาษาได้ถูกต้องเหมาะสมตามกฎเกณฑ์ทางสังคมและวัฒนธรรม
เช่น คนรู้ว่าควรพูดอย่างไรในสถานการณ์ใด จุดประสงค์ของการสนทนา
ตลอดจนคำนึงถึงบทบาททางสังคมของตนเองและผู้ร่วมสนทนา เป็นต้น
3) ความสามารถด้านความเข้าใจในระดับข้อความ (Discouse competence) คือ
ความสามารถที่ผู้เรียนต้องมีเกี่ยวกับการตีความวิเคราะห์ความสัมพันธ์กันของประโยคต่างๆ
โดยสามารถเชื่อมโยงความหมายและโครงสร้างทางไวยากรณ์เพื่อพูดหรือเขียนสิ่งต่างๆได้ต่อเนื่องมีความหมายสัมพันธ์กัน
เช่น การมีลำดับของการเล่าเรื่อง การเขียนจดหมายที่มีข้อความเป็นเหตุเป็นผลสอดคล้องกัน
4) ความสามารถในการใช้กลวิธีในการสื่อความหมาย (Pragmatic or Strategic competence) คือ
ความสามารถที่ผู้เรียนต้องมีเกี่ยวกับ การถอดความ การพูดซ้ำ การพูดอ้อม
การใช้ภาษาสุภาพ ตลอดจนการใช้น้ำเสียงแบบต่างๆเพื่อให้การสื่อสารมีความราบรื่นขึ้นหากเมื่อเกิดความเข้าใจผิด
หรือการไม่เข้าใจในการสื่อสาร
จากแนวคิดข้างต้นสรุปได้ว่าการสอนภาษาตามแนวทางการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารนั้นเน้นการใช้ภาษาของผู้เรียนมากกว่าเน้นถึงหลักเกณฑ์การใช้ภาษา
อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับความคล่องแคล่วในการใช้ภาษาและความถูกต้องอีกด้วย
ดังนั้นการเรียนการสอนแนวนี้จะต้องเน้นการทำกิจกรรมเพื่อการฝึกฝนการใช้ภาษาให้ใกล้เคียงสถานการณ์จริงมากที่สุด
เช่นมีการสร้างสถานการณ์ให้ผู้เรียนได้สนทนาโต้ตอบกันเป็นคู่ กลุ่มย่อย กลุ่มใหญ่
มีการสวมบทบาท การเล่นเกมส์ เป็นต้น และการที่ผู้เรียนจะสามารถใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารนั้น
ผู้เรียนต้องมีทักษะความสามารถทั้ง 4 ด้าน นั่นคือความสามารถในด้านกฎเกณฑ์ไวยากรณ์
ความสามารถด้านภาษาศาสตร์เชิงสังคม ความสามารถด้านความสัมพันธ์ของข้อความ และ
ความสามารถด้านการใช้กลวิธีในการสื่อความหมาย
กระบวนการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร
1.ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน (Warm up/Lead in) มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้นักเรียนเกิดความพร้อมและอยากรู้อยากเรียนในบทใหม่ เนื้อหาจะเชื่อมโยงไปสู่สาระสำคัญของบทนั้นๆ
เมื่อครูผู้สอนเห็นว่านักเรียนมีความพร้อม
เกิดความสนุก และสนใจอยากเรียนแล้ว ก็เริ่มเรียนเนื้อหาต่อไป
กิจกรรมที่กำหนดไว้ในขั้นนี้มีหลากหลาย
เช่น เล่นเกม ปริศนาคำทาย เพื่อทบทวนความรู้ที่เรียนมาแล้ว
2.ขั้นนำเสนอ (Presentation) ในขั้นนี้ครูจะให้ข้อมูลทางภาษาแก่นักเรียน
มีการนำเสนอศัพท์ใหม่เนื้อหาใหม่ให้เข้าใจทั้งรูปแบบและความหมาย
กิจกรรมที่กำหนดไว้ประกอบด้วยการให้ฟังเนื้อหาใหม่ ให้นักเรียนฝึกพูดตาม
ในขั้นนี้ครูเป็นผู้ให้ความรู้ทางภาษาที่ถูกต้อง
และเป็นแบบอย่างที่ถูกต้องในการออกเสียง คือ Informant (ผู้ให้ความรู้)
รูปแบบของภาษาจึงเน้นที่ความถูกต้อง (Accuracy) เป็นหลัก
3.ขั้นฝึก (Practice) ในขั้นนี้นักเรียนจะได้ฝึกใช้ภาษาที่เรียนมาแล้วในขั้นนำเสนอ
โดยมีวัตถุประสงค์ให้นักเรียนใช้ภาษาได้ถูกต้อง
ขณะเดียวกันก็เน้นเรื่องการใช้ภาษาให้คล่องแคล่ว (fluency) การฝึกอาจจะฝึกทั้งชั้น เป็นกลุ่ม เป็นคู่
หรือรายบุคคล
ขั้นนี้เป็นโอกาสที่ครูจะแก้ไขข้อผิดพลาดของนักเรียนในการใช้ภาษา
ซึ่งการแก้ไขข้อผิดพลาดนั้นควรทำหลังการฝึกหากทำระหว่างที่นักเรียนกำลังลองผิดลองถูกอยู่ความมั่นใจที่จะใช้ภาษาให้คล่องแคล่วอาจลดลงได้
กิจกรรมที่กำหนดไว้ในคู่มือครูและแผนการจัดการเรียนรู้
มีทั้งในลักษณะที่กล่าวมานี้ และในลักษณะที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ฝึกอย่างอิสระ Learning by
Doing
4.ขั้นการใช้ภาษา (Production) มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้นักเรียนนำคำหรือประโยคที่ฝึกมาแล้วมาใช้ในสถานการณ์ต่างๆ
ในรูปแบบกิจกรรมหลากหลาย เพื่อให้เกิดความคล่องแคล่ว (fluency) และเกิดความสนุกสนาน
ในขั้นนี้เป็นขั้นที่เน้นนักเรียนเป็นผู้
ทำกิจกรรม ครูคอยให้ความช่วยเหลือ ถ้านักเรียนผิดพลาด อย่าขัดจังหวะ ให้ปล่อยไปก่อน
เพื่อให้นักเรียนรู้สึกสบายใจกิจกรรมที่กำหนดไว้มีหลากหลาย เช่น การเล่นเกม
การทำชิ้นงาน การทำแบบฝึก การนำเสนอผลงาน
5.ขั้นสรุป (Wrap up) เป็นขั้นสุดท้ายของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในแต่ละชั่วโมง
จุดประสงค์คือ เพื่อสรุปสิ่งที่ได้เรียนแล้ว
กิจกรรมที่เสนอแนะไว้อาจจะเป็นการนำเสนอรายงานของกลุ่ม ทำแบบฝึกหัดเพื่อสรุปความรู้ หรือเล่นเกมเพื่อทดสอบสิ่งที่เรียนมาแล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น