27/1/56

กิจกรรมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ



แนวการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร



1.สอนให้นักเรียนสามารถใช้ภาษาเกี่ยวกับสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวหรือเกี่ยวกับสิ่งที่นักเรียนประสบอยู่ในชีวิตประจําวัน เช่น การสอบถาม การออกคําสั่ง การขอร้อง ฯลฯ

2.เน้นการฝึกภาษาแบบที่เจ้าของภาษาใช้ในการสื่อความหมายในชีวิตจริง แต่เป็นภาษาง่าย ๆ สําหรับผู้เริ่มเรียน แต่ละครั้งที่ฝึก ครูจะต้องตั้งจุดประสงค์ที่แน่นอนว่าต้องการจะฝึกให้ใช้ภาษาเพื่อความหมายอะไร ในสถานการณ์เช่นใด

3.เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ใช้ภาษาอังกฤษให้มากที่สุดโดยอาศัยกิจกรรมคู่หรือกิจกรรมกลุ่ม เนื่องจากนักเรียนแต่ละคนมีความแตกต่างกันการใช้บทเรียนหรือวิธีการสอนแบบเดียวกันอาจไม่เหมาะกับนักเรียนทุกคนในชั้น เพราะนักเรียนบางคนเรียนเร็วบางคนเรียนช้า การแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มย่อยเพื่อทํากิจกรรมต่าง ๆ จะช่วยแก้ไขปัญหา

4.ครูผู้สอนควรฝึกทักษะการฟังแบบปกติทั่วไป (casual listening) และการฟังแบบมีจุดมุ่งหมาย (Focused listening) โดยใช้กิจกรรมง่าย ๆ เช่น ฟัง และพูดตาม ฟังแล้วทําเครื่องหมาย ฟังแล้ววาดภาพ ฟังแล้วโยงภาพให้สัมพันธ์กัน ฟังแล้วชี้ไปที่ของจริงหรือภาพนั้น ๆ ฟังแล้วปฏิบัติตาม เป็นต้น

5.ในการดําเนินการเรียนการสอนครูผู้สอนควรใช้ภาษาอังกฤษให้มากที่สุดเท่าที่จะทําได้ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกเคยชินกับภาษาและเป็นแม่แบบสําหรับการฝึก

6.ครูผู้สอนควรหาสื่อที่จะนํามาพัฒนาความสามารถของตนเองให้มากขึ้น

7.ครูผู้สอนควรจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้หลากหลายไม่ยึดติดอยู่กับกิจกรรมหรือสื่ออย่างใดอย่างหนึ่งจะทําให้ผู้เรียนเรียนด้วยความสนุกสนานไม่เกิดความเบื่อหน่าย เห็นประโยชน์ และเป็นการสร้างเจตคติที่ดีต่อการเรียนซึ่งจะทําให้ผลการเรียนดีขึ้น

8.ครูผู้สอนจะต้องประเมินและให้ข้อมูลย้อนกลับแก่นักเรียนในการประเมินครูอาจใช้วิธีสุ่มเรียกนักเรียนบางคู่/บางกลุ่มให้ทํากิจกรรมหรือเสนอผลงานการประเมินและให้ข้อมูลย้อนกลับเป็นสิ่งจําเป็นมาก เพราะจะทําให้นักเรียนได้ทราบถึงความสําเร็จหรือความล้มเหลวในการทํากิจกรรม

9. ครูผู้สอนจะต้องสร้างบรรยากาศแห่งความประทับใจที่ดีของผู้เรียนให้ได้ก่อนลงมือทําการสอนในแต่ละครั้ง การเริ่มสอนชั่วโมงแรกยังไม่ควรเริ่มสอนเนื้อหาวิชาทันทีแต่ควรสร้างความคุ้นเคย สร้างบรรยากาศที่เป็นมิตร นุ่มนวล เปี่ยมด้วยความเมตตา ให้ความอบอุ่นและความเป็นกันเองกับผู้เรียน ผู้เรียนจะมีความประทับใจที่ดีต่อผู้สอน จะทําให้การดําเนินการสอนต่อ ๆ ไป เป็นไปอย่างราบรื่น

10. ครูผู้สอนต้องไม่รีบเร่งสอนให้จบบทเรียน เพราะปริมาณเนื้อหาที่นักเรียนจะต้องเรียนนั้นไม่สําคัญเท่ากับความสามารถในการใช้ภาษาได้อย่างแท้จริง การสอนภาษาอังกฤษ ในระดับเริ่มต้นควรสอนให้นักเรียนสามารถใช้ภาษาเกี่ยวกับสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวหรือเกี่ยวกับ สิ่งที่นักเรียนประสบอยู่ในชีวิตประจําวัน ด้วยภาษาง่าย ๆ ในการฝึกแต่ละครั้ง ผู้สอนต้องตั้งจุดประสงค์ที่แน่นอนว่าต้องการจะฝึกให้ใช้ภาษาเพื่อความหมายอะไร ในสถานการณ์เช่นใด

11. ครูผู้สอนต้องมีเทคนิคการแก้ไขข้อผิดพลาดในการใช้ภาษาของผู้เรียนที่เหมาะสม การเรียนภาษาในอดีตเน้นความถูกต้องของภาษาเป็นสําคัญ ผู้สอนจะแก้ข้อผิดพลาดของผู้เรียนทุกครั้ง การกระทําเช่นนี้ก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีเพราะจะทําให้ผู้เรียนเกิดความไม่มั่นใจในการใช้ภาษาจึงพยายาหลีกเลี่ยงการใช้ภาษาอยู่เสมอ ก่อให้เกิดความท้อถอยที่จะใช้ภาษา และมีเจตคติที่ไม่ดีต่อการเรียนภาษา ความผิดพลาดในการใช้ภาษาของผู้เรียนเป็นเรื่องของความปกติและธรรมดาดังนั้นการแก้ไขคําผิดของนักเรียนอาจทําได้ทันทีในขั้นการสอนที่เน้นความถูกต้อง(accuracy) แต่ในขั้นการสอนการฝึกที่ต้องการเน้นความคล่อง (fluency) ก็จดบันทึกไว้สรุปแก้ไขภายหลังการสอนแต่ละครั้งหรือโอกาสที่เหมาะสม เพราะแนวการเรียนภาษาเพื่อสื่อสารให้ความสําคัญกับการใช้ภาษา (use) มากกว่าวิธีใช้ภาษา (usage) ผู้สอนจึงไม่ควรแก้ไขข้อผิดพลาดของผู้เรียนทุกครั้ง ควรแก้ไขเฉพาะที่จําเป็น มิฉะนั้นอาจทําให้ผู้เรียนขาดความมั่นใจและไม่กล้าใช้ภาษาในการทํากิจกรรมต่าง ๆ

12. ครูผู้สอนควรเป็นต้นแบบที่ดีในการออกเสียงที่ถูกต้อง ตลอดจนการใช้กิริยา ท่าทาง สีหน้า และนํ้าเสียงประกอบในการสื่อความหมายและต้องสนใจฟังในสิ่งที่ผู้เรียนพูดอย่างตั้งใจผู้สอนที่ต้องการพัฒนาทักษะการพูดของผู้เรียนต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการพูดและเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้พูดมิใช่ฟังอย่างเดียว และ ถ้าผู้เรียนได้เรียนรู้ภาษามาก ๆ เขาก็จะเรียนทักษะอื่น ๆ ได้เร็ว

13. ครูผู้สอนควรลดบทบาทการพูดของตน โดยพยายามให้ผู้เรียนได้มีโอกาสพูดให้มาก ในการสอนแต่ละครั้งครูผู้สอนควรพูดไม่เกิน 25% อีก 75% เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้พูดเพื่อจะได้เรียนรู้และฝึกใช้ภาษาอังกฤษให้มากที่สุดอนึ่งในช่วงแรก ๆ ไม่ควรบังคับให้นักเรียนพูดในขณะที่เขายังไม่มีความพร้อมที่จะพูด การเรียนภาษาจะได้ผลช้าลงถ้าผู้เรียนรีบร้อนที่จะพูดเร็วเกินไป ก่อนที่จะสามารถฟังภาษาให้เข้าใจและรู้ศัพท์มากพอสมควรแล้ว ครูอาจนําวิธีสอนแบบการตอบสนองด้วยท่าทางมาใช้ เพื่อให้ผู้เรียนรู้สึกว่าตนเองประสบความสําเร็จในการเรียนกระบวนการสอน การจัดกิจกรรม และบทบาทการสอนเพื่อการสื่อสารดังที่กล่าวมานับว่า เป็นสิ่งสําคัญก่อให้เกิดพฤติกรรมการสอนภาษาอังกฤษที่พึงประสงค์ดังจะได้กล่าวต่อไป



กิจกรรมการสอนภาษาอังกฤษ


          การเรียนรู้ในชั้นเรียนถือเป็นวินาทีที่ยิ่งใหญ่ในการสร้างความรักในการเรียนภาษาอังกฤษ จะสอนภาษาอังกฤษยังไงให้เด็กๆชอบ ครูภาษาอังกฤษ 100 % ทุกคนตอบได้ค่ะ
สอนจากสิ่งที่พวกเขารัก
           เด็กๆมีธรรมชาติแห่งช่วงวัยที่งดงาม เป็นวัยที่สดใส แสนซ่า และวัยรุ้น..วัยรุ่น ถ้าเป็นเด็กๆในช่วงประถมศึกษา ภาพที่ผู้เขียนยังจำได้ติดตา คือ คุณครูผู้สอนที่น่ารัก พยายามฝึกให้เราอ่าน ABC ด้วยความพยายามของครูเช่นกัน เมื่อครูก็พยายามเราก็พยายาม มันก็เลยพอไปได้ค่ะ พอโตขึ้นมาอีกหน่อย คุณครูก็เริ่มดุขึ้นแล้ว ท่องศัพท์ไม่ได้ ก็ตี ตี ตี ได้แต่ร้องตะโกนบอกฟ้า (ตามเพลงฮิตสมัยนั้น) ว่า ครูขาถึงจะตียังไงหนูก็ไม่ได้อยู่ดีค่ะครู ได้โปรดอย่าทำร้ายฉันแล้วลองมองที่ปัจจุบันนะคะ....ลองมองที่สังคมไทย สมัยนี้ ถ้าครูสอนแบบตามมี ตามเกิด สอนเท่าที่พยายามเหมือนครั้งกระนู้น เด็กๆเขามีแรงกดดันอยู่แล้วจากสังคม มันจะไปเหลืออาไร้....
เพราะฉะนั้น ลบภาพกิจกรรมการท่องการอ่านตามตำราอย่างเดียวไปก่อนค่ะ แล้วลองอ่านตัวอย่างกิจกรรมที่เด็กๆรัก ดังต่อไปนี้ค่ะ

1. เพลง (Song)
          การสอนให้เด็กๆร้องเพลงภาษาอังกฤษ ช่วยได้มากค่ะ เด็กๆจะได้ทั้งความสนุกสนาน เพลิดเพลินและจะคุ้นเคยกับการใช้สำเนียงภาษาอังกฤษโดยไม่เคอะเขิน แถมด้วยการโยกย้ายส่ายสะโพกตามเพลงซะด้วย สุดยอดเลยค่ะ พอร้องเพลงแล้ว ต้องรีบฉกฉวยโอกาสทองในการทบทวนคำศัพท์ทั้งหมดที่ได้เรียนไปค่ะ
2. เกม (Game)
          การเล่นเกมภาษาอังกฤษ สามารถมัดใจของเด็กๆได้อยู่หมัดเลยนะคะ มีเกมภาษาอังกฤษที่ผู้เขียนใช้แล้วประสบความสำเร็จมาก ส่วนชื่อเกมอาจจะปรับเปลี่ยนได้แล้วแต่ครูผู้สอน ดังนี้ค่ะ
          -Spin the bottle เป็นเกมที่เหมาะกับการฝึกทักษะการถาม ตอบภาษาอังกฤษ โดยเด็กๆนั่งเป็นวงกลม ครูเดินเข้าไปกลางวงและเริ่มหมุนขวด เมื่อปลายขวดชึ้ไปที่ใครให้เด็กคนนั้นตอบ ครูตั้งคำถาม เช่น “ What is your favorite food” แล้วเปลี่ยนคนที่ตอบแล้วมาถามคนถัดไปจนครบทุกคน หรือปรับได้ตามความเหมาะสมของเวลาค่ะ
          - Listen and take เป็นเกมสนุกๆ เหมาะกับการฝึกทักษะการอ่านและฟังค่ะ โดยครูและเด็กๆช่วยกันวางคำศัพท์บนพื้น หรือติดคำศัพท์ไว้บนกระดาน แล้วแบ่งเด็กออกเป็นสองกลุ่ม แต่ละกลุ่มส่งตัวแทนออกมาเล่นเกม ครูอ่านคำศัพท์และให้ผู้เล่นหยิบคำศัพท์ให้ตรงกับที่ครูอ่าน ใครหยิบได้ก่อนเป็นผู้ได้คะแนนค่ะ เด็กๆสามารถเล่นได้จนครบทุกคนค่ะ
          - Listen and write เป็นเกมที่เหมาะกับการฝึกทักษะการฟังและการเขียนค่ะ โดยครูอ่านคำศัพท์และให้ผู้เล่นเขียนคำศัพท์ให้ตรงกับที่ครูอ่าน ซึ่งถ้าเป็นคำศัพท์ที่ยากเกินไป ครูอาจจะเขียนตัวอักษรบางตัวให้ค่ะ เด็กๆจะได้รู้สึกอยากล่นมากขึ้น เกมนี้ถ้าจัดเป็นกลุ่มจะดีมากค่ะ
          - Listen and circle เป็นเกมสนุกๆ เหมาะกับการฝึกทักษะการอ่านและฟังค่ะ โดยครูและเด็กๆช่วยกันเขียนคำศัพท์ไว้บนกระดาน แล้วแบ่งเด็กออกเป็นสองกลุ่ม แต่ละกลุ่มส่งตัวแทนออกมาเล่นเกม ครูอ่านคำศัพท์และให้ผู้เล่นวงกลมคำศัพท์ให้ตรงกับที่ครูอ่าน ใครวงกลมได้ก่อนเป็นผู้ได้คะแนนค่ะ เด็กๆสามารถเล่นได้จนครบทุกคนค่ะ
          - Hang Man เกมต้นตำรับที่ท้าทาย ตื่นเต้น และฝึกทักษะการเขียนได้ดีมากค่ะ
          - Hot Ball เป็นเกมที่เด็กชื่นชอบ เพราะนอกจากจะได้เล่นลูกบอลสนุกๆแล้ว ยังได้ฝึกพูดภาษาอังกฤษกับเพื่อนๆ วิธีการเล่น คือ ผลัดกันโยนลูกบอลโดยสมมติให้เป็นลูกบอลที่ร้อนที่สุด ใครได้รับพยายามแต่งประโยคภาษาอังกฤษ หรือบอกคำศัพท์ตามโจทย์ที่ได้รับ ถ้านึกไม่ออกก็ส่งบอลให้เพื่อนก่อน แต่ห้ามส่งบอลโดยที่ไม่ตอบอะไรเลยเกิน 3 ครั้งค่ะ ไม่อย่างนั้นต้องเข้ามากลางวงร้องและเต้นเพลงให้เพื่อนๆได้หัวเราะก่อนเรียนนะคะ
          - Music Ball เป็นเกมที่เด็กชื่นชอบเช่นกันค่ะ วิธีการเล่น คือ ครูจะเปิดเพลงให้เด็กๆผลัดกันส่งลูกบอลไปตามเพลงด้วยความสนุกสนาน ถ้าเพลงหยุดที่ใครให้แต่งประโยคภาษาอังกฤษ หรือบอกคำศัพท์ตามโจทย์ที่ได้รับ
          - Snap เป็นเกมที่ฝึกทักษะการอ่านและเขียนคำศัพท์ เกมนี้เหมาะกับการเล่นในเวลาพัก เช่น หลังจากทำงานเสร็จ วิธีการเล่น คือ จับคู่ แล้วนำบัตรคำศัพท์มาวางตรงกลาง (คว่ำด้านคำศัพท์ลง) เมื่อพร้อมแล้วให้สัญญาณ ใครเอามือวางทับบัตรคำ (ตะครุบ)ได้ก่อนเป็นผู้ได้บัตรคำและ ให้ผู้เล่นฝั่งตรงข้ามสะกดคำศัพท์นั้น ถ้าสะกดถูกต้องจะได้บัตรคำศัพท์นั้นไป

3. สื่อมัลติมีเดีย (Multimedia)
          เป็นการเพิ่มทางเลือกในการเรียนภาษาอังกฤษได้ดีมาก ทุกวันนี้มี Website สำหรับนักเรียน นักศึกษาที่น่าสนใจมาก เด็กๆสามารถฝึกออกเสียงได้ใกล้เคียงกับเจ้าของภาษา พร้อมกับชมภาพสวยๆ น่ารักๆนอกจากนั้นยังมีเกมที่น่าสนใจอีกมากมายค่ะ

4. หนังสือ (Book)
          เพื่อนที่ดีที่สุดของเด็กๆ คือ หนังสือค่ะ ครูอาจจะเลือกหนังสือมาอ่านให้เด็กๆฟัง แล้วทบทวนคำศัพท์หลังการอ่าน ถ้าเป็นเด็กโต ก็อาจจะให้เด็กๆเลือกเรื่องที่ชอบมาอ่านให้ครูและเพื่อนๆฟัง แล้วตั้งคำถามตอบเพื่อนก็ได้ค่ะ

5.งานศิลปะ (Art)
          การที่เด็กๆได้ทำชิ้นงานศิลปะ เช่น งานฝีมือ การวาดภาพระบายสี ฯลฯ เป็นช่วงเวลาที่เด็กๆมีความสุขมากค่ะ ในขณะเดียวกันคุณครูสามารถสอนภาษาอังกฤษไปพร้อมๆกับการทำกิจกรรมนั้นด้วย เป็นการศึกษาแบบบูรณาการที่ดีมาก



 วิธีการสอนโดยใช้บทบาทสมมุติ

ความหมาย

                วิธีการสอนโดยใช้บทบาทสมมุติ  หมายถึง  วิธีสอนที่ผู้สอนสร้างสถานการณ์และบทบาทสมมุติขึ้นจากความเป็นจริง มาให้ผู้เรียนได้แสดงออกตามที่ผู้เรียนคิดว่าจะเป็น ผู้สอจะใช้การแสดงออกทั้งทางด้านความรู้ ความคิด และพฤติกรรมของผู้แสดงมาเป็นพื้นฐานในการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่ผู้เรียน อันจะทำให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาสาระของบทเรียนอย่างลึกซึ้ง และรู้จักปรับหรือเปลี่ยนพฤติกรรม และการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม

ความมุ่งหมาย

          1.เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจในพฤติกรรมและความรู้สึกของผู้อื่น

          2.เพื่อให้ผู้เรียนได้ปรับหรือเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่เหมาะสม

          3.เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกการใช้ความรู้ความคิดในการแก้ปัญหา และการตัดสินใจ

          4.เพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสแสดงออก ได้เรียนด้วยความเพลิดเพลิน

          5.เพื่อให้การเรียนการสอนมีความใกล้เคียงกับสภาพความเป็นจริงมากขึ้น

ลักษณะของบทบาทสมมุติ

บทบาทสมมุติที่ผู้เรียนแสดงออกแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ                                             

                1. การแสดงบทบาทสมมุติแบบละคร  เป็นการแสดงบทบาทตามเรื่องราวที่มีอยู่แล้วผู้แสดงจะได้รับทราบเรื่องราวทั้งหมด  แต่จะไม่ได้รับบทที่กำหนดให้แสดงตามอย่างละเอียดผู้แสดงจะต้องแสดงออกตามความคิดของตน และดำเนินเรื่องไปตามท้องเรื่องที่กำหนดไว้แล้วซึ่งมีลักษณะเหมือนละคร

                2. การแสดงบทบาทสมมุติแบบแก้ปัญหา เป็นการแสดงบทบาทสมมุติที่ผู้เรียนได้รับทราบสถานการณ์หรือเรื่องราวแต่เพียงเล็กน้อยเท่าที่จำเป็น  ซึ่งมักเป็นสถานการณ์ที่เป็นปัญหาหรือมีความขัดแย้งแฝงอยู่ ผู้แสดงบทบาทจะใช้ความคิดของตนในการแสดงออกและแก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างเสรี

               


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น